
- วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ผลิตและจำหน่ายหัตถกรรมพื้นบ้าน เทศบาลตำบลนาข่า นำโดย พ.ต.อ.วิธ มุทธสินธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาล ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาข่า นักวิชาการพัฒนาชุมชน ผู้แทนประชาคมท้องถิ่น ปลัดเทศบาลตำบลนาข่า หัวหน้าฝ่ายแผนงาน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อพิจารณาร่างแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับเปลี่ยนแปลง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 เพื่อเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแผนพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแก้ไขปัญหาในการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน
- ประเด็นหลักในการประชุม คือการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ 3 โครงการ ดังนี้
- โครงการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการตายของมารดาและทารกจากการคลอดก่อนกำหนดและการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นโครงการที่ส่งเสริมสุขภาพหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุ 15-45 ปี ซึ่งในพื้นที่มีประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 2,000 กว่าคนที่ต้องดูแล โดยมีอัตราเฉลี่ยการตั้งครรภ์ในพื้นที่ปีละ 35 ราย ในจำนวน 35 ราย พบว่ามี 2 รายที่คลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ปัญหาที่พบมักเกิดในช่วงอายุ 15 -18 ปี จากการฝากครรภ์ไม่พร้อมหรือไม่ไปฝากครรภ์ ทำให้มีภาวะคลอดก่อนกำหนด และมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและอื่น ๆ ตามมา อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือสั่งการให้เพิ่มงบประมาณเพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ จากเดิมที่มีการตั้งงบประมาณไว้ 10,000 บาท เพิ่มเป็น 20,000 บาท
- โครงการออนซอนวิถีอีสาน สืบสานผ้าหมี่ขิด บ้านนาข่า มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของตลาดผ้านาข่าและอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าพื้นเมือง และส่งเสริมให้สถานที่ต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ตำบลนาข่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการ บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานอื่น เช่น การท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี วัฒนธรรมจังหวัด พัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เป็นต้น เพื่อขยายผลโครงการจากระดับชุมชนไปสู่ระดับจังหวัด ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมรายได้ให้ผู้ประกอบการจากการทอผ้า อีกทั้งรองรับมหกรรมพืชสวนโลกที่จะมาถึง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากเดิมที่ตั้งไว้ 150,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาท เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย
- โครงการปรับปรุงแก้ไขระบบประชาหมู่บ้าน บ้านดอนแตง หมู่ที่ 8 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบประปา เพื่อวางท่อส่งน้ำบ้านดอนแตงใหม่ เนื่องจากของเดิมมีสภาพเก่าและเกิดการอุดตัน ทางกองช่าง เทศบาลตำบลนาข่าจึงออกสำรวจระบบท่อส่งน้ำประปา เป็นระบบที่ใช้ในครัวเรือน แต่ระบบการว่งท่อประปาหมู่บ้านให้ใช้งานได้มาตรฐานตามปกติมีราคาสูง ต้องมีการขุดดินแล้ววางท่อในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบจนทำให้เกิดการแตกร้าวรั่วซึม จึงได้มีการทบทวนงบประมาณจากเดิมที่ทางคณะกรรมการชุมชนเสนอให้ตั้งไว้ 67,000 บาท เพิ่มเป็น 140,000 บาท
- สรุปข้อมูลผู้มีส่วนร่วม มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 14 คน ประกอบด้วย
- บุคลากรเทศบาลตำบลนาข่า ประกอบด้วย นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า สมาชิกสภาเทศบาล ปลัดเทศบาลตำบลนาข่า พนักงานเทศบาลและเจ้าหน้าที่ จำนวน 6 คน
- ภาครัฐ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาข่า นักวิชาการพัฒนาชุมชน จำนวน 2 คน
- ภาคประชาชน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนประชาคมท้องถิ่น จำนวน 6 คน
- ผลจากการมีส่วนร่วม คือผู้เข้าร่วมประชุมในทุกภาคส่วน ทั้งจากผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาข่า นักวิชาการพัฒนาชุมชน ผู้แทนประชาคมท้องถิ่น ปลัดเทศบาลตำบลนาข่า หัวหน้าฝ่ายแผนงาน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องประชาคมท้องถิ่น ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นในการประชุมหารือครั้งนี้ มีความเห็นว่า
- โครงการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด – คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นมีมติเป็นเอกฉันท์ในการเพิ่มเงินประมาณดังกล่าว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคลอดก่อนกำหนดในเชิงรุก และประธานในที่ประชุมเน้นย้ำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาข่ามีการเก็บสถิติ และขอความร่วมมือจาก อสม. และผู้นำท้องถิ่นเข้าไปสอดส่องพฤติกรรมลูกหลานในแต่ละครัวเรือน
- โครงการออนซอนวิถีอีสาน สืบสานผ้าหมี่ขิด บ้านนาข่า – คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นมีมติเป็นเอกฉันท์ในการเพิ่มงบประมาณดังกล่าว อีกทั้ง ภาคประชาชนเสนอให้มีการเพิ่มตัวตนของตลาดผ้านาข่าให้เกิดภาพลักษณ์ต่อสาธารณชนให้มากกว่านี้ในการรองรับมหกรรมพืชสวนโลก โดยให้จัดงานพืชสวนโลกสืบสานวัฒนธรรมผ้าหมี่ขิด เป็นการมัดหมี่ผ้าโบราณให้ชาวต่างชาติดู กระตุ้นการท่องเที่ยวให้ตลาดผ้าและคนในชุมชนได้แสดงออกถึงประเพณีเก่าแก่แต่โบราณอีกด้วย นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเสนอให้มีการพิสูจน์ถึงที่มาของเส้นทางการทอผ้าหมี่ขิด จากเดิมผ้าหมี่คือการทอผ้าขิดผสมมัดหมี่ แต่ในปัจจุบันมีผ้าต่าง ๆ ทะลักเข้ามาแล้วนำมาขายในตลาดผ้านาข่า ทำให้มีผ้าหลากหลายชนิดปะปนกัน ในอนาคตหากเป็นไปได้จึงควรมีมาตรการหรือแนวทางในการระบุตัวตนของผ้านาข่าให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ตลาดผ้า เช่น กิจกรรม Street Arts วาดรูประบายสีกำแพงวัดเล่าเรื่องราวความเป็นมาในการทอผ้าเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมารับรู้ว่าเป็นตลาดผ้านาข่า
- โครงการปรับปรุงแก้ไขระบบประชาหมู่บ้าน บ้านดอนแตง หมู่ที่ 8 – คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นมีมติเป็นเอกฉันท์ในการเพิ่มงบประมาณดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เนื่องจากระบบถังน้ำประปาหมู่บ้านก่อสร้างตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น การใช้งานจึงหมดสภาพและชำรุดไปตามเวลา อีกทั้ง ภาคประชาชนยังเสนอต่อที่ประชุมว่าระบบน้ำประปาหมู่บ้านดอนแตงเกิดจากปัญหาของบ่อน้ำไม่เพียงพอ และสายเมนของบ่อน้ำอุดตัน จึงอยากให้เทศบาลตำบลนาข่าแก้ไขให้ทันท่วงทีก่อนเกิดปัญหามากขึ้น
- การนำผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงาน
- มติที่ประชุมทำให้มีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรายละเอียดแผนพัฒนาท้องถิ่น ตามแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับเปลี่ยนแปลง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568
- โครงการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด และโครงการปรับปรุงแก้ไขระบบประชาหมู่บ้าน บ้านดอนแตง หมู่ที่ 8 อยู่ในระหว่างดำเนินการตามปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- โครงการออนซอนวิถีอีสาน สืบสานผ้าหมี่ขิดบ้านนาข่า เปิดมูลมังสังขยาตามหาผ้านาข่า NICE NIGHT NAKHA LEGACY ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โครงการดังกล่าวจัดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2568 ณ วัดนาคาเทวี บ้านนาข่า หมู่ที่ 1 โดยบูรณาการร่วมมือกันในหลายภาคส่วน อาทิ วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี พาณิชย์จังหวัดอุดรธานี หอการค้าอุดรธานี โรงเรียนในเขตพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง ผู้ประกอบการร้านค้าในตลาดผ้า ผู้นำชุมชน อสม. และประชาชนในพื้นที่ ในการจัดงานครั้งนี้ จัดให้มี ”Street Art“ ให้ความรู้การอนุรักษ์ผ้าทอมือ ฝึกสอนการทำผลิตภัณฑ์จากผ้า การแสดงศิลปวัฒนธรรม และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) ระหว่าง เทศบาลตำบลนาข่า วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ที่จะร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนเพื่อพัฒนาผ้านาข่าให้เป็นอีกหนึ่ง “Soft Power” มีการจัดนิทรรศการผ้า นำผ้าเก่าแก่ที่มีอายุนับร้อยปีมาเข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญ มีการเดินแบบผ้าไทย ในสโลแกน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยผู้ประกอบการผ้าอีกด้วย
- ประมวลภาพการประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น
- หนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อพิจารณาร่างแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570) เปลี่ยนแปลงครั้งที่ 1/2568
- แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570) ฉบับเปลี่ยนแปลง ครั้งที่ 1/2568
- รายงานการประชุม